แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจของไทยและความท้าทายด้านแรงงาน [EP.2]

06 June 2022

แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจของไทยและความท้าทายด้านแรงงาน

 

แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจสู่การพัฒนายั่งยืนด้วยโมเดลจัดการอุตสาหกรรมแบบ BCG economy ของไทยประกอบด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวถูกนำมาใช้แก้ปัญหาฐานรากเศรษฐกิจด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร พลังงานและวัสดุ สุขภาพและการแพทย์ การท่องเที่ยวและบริการโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ปรับปรุงคุณภาพและผลผลิตเพื่อใช้ปัจจัยการผลิตเต็มวงจรชีวิตและหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ได้โดยทำให้ของเสียเป็นศูนย์ในอันจะช่วยประหยัดพลังงานและรักษ์โลก แนวทางการดำเนินธุรกิจยั่งยืนนี้ได้รับการขานรับจากภาคเอกชนเป็นอย่างดี รัฐบาลไทยกำหนดนโยบายพัฒนาศักยภาพประเทศด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลเป็นแนวทางเพื่อต่อยอดพัฒนาอุตสาหกรรมสำคัญหลักที่มีอยู่และเพิ่มเติมอุตสาหกรรมอื่นที่จำเป็นสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไปในอนาคตโดยสังเกตจากกลุ่มธุรกิจเป้าหมายที่ได้รับการส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ส่วนใหญ่ต่างมุ่งเน้นเทคโนโลยีชั้นสูงรวมถึงการบิน ยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์ ดิจิทัล และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะร่วมกับสี่กลุ่มอุตสาหกรรมหลักข้างต้น รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายพัฒนาแรงงานคู่ขนานดังที่นายกรัฐมนตรีมักกล่าวอยู่เสมอว่า “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

มองจากภาพลักษณ์การพัฒนาประเทศข้างต้นบวกกับกระแสความนิยมเทคโนโลยีที่แวดล้อมสังคมได้สร้างชุดการรับรู้ของคนส่วนใหญ่ในสังคมว่า ธุรกิจสมัยใหม่ที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงมักอยู่ในธุรกิจด้านเทคโนโลยีดิจิทัลไฮเทคที่สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้หลายอุตสาหกรรมถูกมองในแง่ลบเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้นที่แข่งขันด้วยต้นทุนแรงงานถูก หลายคนมองว่าธุรกิจแรงงานเข้มข้นมีความล้าหลังไม่ทันสมัยใช้ทรัพยากรของสังคมจำนวนมากเนื่องจากต้องใช้แรงงานมนุษย์มากมายในขณะที่สังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยแทนที่จะนำเครื่องจักรมาใช้ทดแทนเพื่อปลดปล่อยแรงงานเหล่านั้นไปสร้างผลิตภาพแรงงานสูงสุดในอุตสาหกรรมอื่น อีกด้านหนึ่งของเหรียญ เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือที่ใช้พัฒนาส่งเสริมกิจกรรมการผลิตและการค้าให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเพื่อปรับปรุงพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 อุตสาหกรรมของบีโอไอที่รวมเกษตร อาหาร สุขภาพ การแพทย์ ท่องเที่ยว และบริการที่ต่างเป็นอุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้นทั้งสิ้น

เป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยในหลายรัฐบาลที่ผ่านมาเป็นการสานต่องานต่อเนื่องจากการเป็นครัวโลกในอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารตามด้วยศูนย์กลางอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับต่อมาเป็นศูนย์กลางสุขภาพและการแพทย์ด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และแน่นอนที่สุดเป็นศูนย์การบินระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและบริการเนื่องจากเป็นกลจักรสำคัญในการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นตลอดห่วงโซ่อุปทานผ่านธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอย่างมีประสิทธิภาพ กิจกรรมต่างๆที่กล่าวมาเหล่านี้เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมากตั้งแต่ปลูกผลไม้ เกษตรกรรม ประมง ทำเครื่องประดับ บริการสุขภาพอย่างนวดสปาและนวดแผนไทย การรักษาพยาบาลที่ต้องใช้บุคคลากรทางการแพทย์และพนักงานบริการ การบริการท่องเที่ยวเริ่มจากร้านอาหารถึงร้านขายของที่ระลึกที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ให้บริการจำนวนมาก ข้อมูลแรงงานสำนักงานสถิติแห่งชาติก่อนวิกฤติโรคระบาดต้นปี 2563 ระบุว่า บุคคลากรในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการมีสูงถึง 20% ของการจ้างงานทั้งหมดของประเทศไทยคิดเป็นประมาณ 7.7 ล้านคนอันประกอบด้วยแรงงานภาคการท่องเที่ยว 500,000 คนและธุรกิจเกี่ยวเนื่องการท่องเที่ยว 7.2 ล้านคนเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีสูงถึง 20% หลังจากวิกฤติโรคระบาดผ่านพ้นไป รัฐบาลจะมีแผนบริหารจัดสรรปันส่วนแรงงานในอุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้นนี้ต่อไปอย่างไร?