อัญมณีและเครื่องประดับ…ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับประเด็นแรงงานเข้มข้น [E.3]
อัญมณีและเครื่องประดับ…ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับประเด็นแรงงานเข้มข้น
คงเป็นการยากที่จะระบุว่า ธุรกิจแรงงานเข้มข้นดีหรือไม่เมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจที่ใช้ทุนเข้มข้นขณะที่ไทยไม่ได้เป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเอง ประเด็นพิจารณาพื้นๆ น่าจะเกี่ยวข้องกับคุณภาพสินค้า ต้นทุนการผลิต มูลค่าการลงทุน/ผลตอบแทน ปัจจัยการผลิตและระดับความเชี่ยวชาญของแรงงานในเชิงผลิตภาพ โดยธรรมชาติ หลายธุรกิจมีข้อจำกัดในการนำเครื่องจักรมาใช้แทนคนได้ในระดับหนึ่งขณะที่บางธุรกิจนำเครื่องจักรอัตโนมัติมาใช้แทนคนในสัดส่วนสูงอย่างอุตสาหกรรมตะวันตกดิน อาทิ เครื่องแต่งกายที่แข่งขันด้วยค่าแรงถูกเนื่องจากค่าแรงเป็นสัดส่วนสำคัญในโครงสร้างต้นทุนและมีกระบวนการผลิตที่ไม่ซับซ้อนฝึกฝนฝีมือแรงงานได้ง่ายประกอบกับสินค้าง่ายต่อการเลียนแบบไม่มีกลไกพิเศษป้องกัน เช่น เทคนิคการออกแบบและการผลิต แหล่งวัตถุดิบ ฯลฯ จึงเกิดการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทยไปประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงที่ถูกกว่า อาทิ พม่า กัมพูชา และเวียดนาม หากลองหวนคิดดู อุตสาหกรรมแรงงานเข้มข้นที่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐอย่างอาหาร สุขภาพ ท่องเที่ยวและบริการต่างเป็นอุตสาหกรรมพึ่งพาทักษะการให้บริการที่เปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์และอัธยาศัยไมตรีจิตของความเป็นไทยซึ่งถือเป็นทั้งซอฟต์พาวเวอร์และความสามารถในการแข่งขันเฉพาะตัวของคนไทย
อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับมีคุณสมบัติดังอุตสาหกรรมที่กล่าวข้างต้นอย่างพร้อมมูลและยังเป็นไม่กี่อุตสาหกรรมที่จะเรียกได้เต็มปากว่าเป็นอุตสาหกรรมของคนไทย อุตสาหกรรมนี้ไม่ได้ขายวัฒนธรรมไทยตรงๆ อย่างวัดวาอาราม อาหารไทย นวดไทย มวยไทย ผ้าไทยและเครื่องเงินทองอย่างประณีตศิลป์ซึ่งเป็นสิ่งที่จับต้องได้ แต่งานจิวเวลรี่เป็นการขายความเป็นไทยผ่านงานฝีมือจากหัตถกรรมแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญในรูปแบบสากลโดยไม่ต้องแสดง “ความเป็นไทย” ด้วยรูปแบบสินค้าแต่ผู้คนมองเห็นความโก้หรูและสัมผัสถึงความละเมียดละไมของสินค้าอย่างไทยได้ ธุรกิจนี้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากลอยู่คู่ไทยนานกว่ากึ่งศตวรรษโดยครองความเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของภูมิภาคและผู้นำส่งออกระดับโลก
ระดับการนำเครื่องจักรมาทดแทนแรงงานในอุตสาหกรรมนี้มีข้อจำกัดสูงที่ต้องพึงพาแรงงานฝีมือเป็นหลักเนื่องจากธรรมชาติของสินค้ามีความหลากหลายเปลี่ยนแปลงรูปแบบตามแฟชั่นตลอดเวลาอีกทั้งมีกลุ่ม ระดับ ประเภท ชนิดและขนาดสินค้าที่ต่างกันโดยจำนวนสั่งซื้อแต่ละรูปแบบมีจำนวนน้อยจึงทำให้ขั้นตอนผลิตต้องพึ่งพาแรงงานฝีมือเฉพาะอย่างยิ่งการคัดพลอย การฝังเพชรพลอยและการประกอบตัวเรือนที่ต้องอาศัยสายตาและความเชี่ยวชาญคล่องแคล่วจากงานมือมนุษย์ที่ไม่สามารถใช้เครื่องจักรได้ อนึ่ง การฝึกฝนฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมนี้เป็นทักษะวิชาชีพที่ติดตัวไปตลอดชีวิตแม้หลังเลิกทำงานโรงงานแล้วยังสามารถนำไปประกอบอาชีพส่วนตัวรับงานมาทำที่บ้านได้จึงเป็นการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดย่อมอีกทางหนึ่ง
อุตสาหกรรมนี้จึงไม่ได้ขายแรงงานถูกดังที่หลายคนเข้าใจที่ใช้แรงงานจำนวนมาก ปรากฏการณ์ย้ายฐานการผลิตเครื่องประดับจากจีนอันเนื่องมาจากกำแพงภาษีกีดกันการค้าของอเมริกาทำให้ไทยเป็นประเทศรายต้นๆ ที่ได้รับเลือกสำหรับตั้งโรงงานในกลุ่มสินค้าระดับกลางสูงแทนที่จะเลือกไปที่อินเดียหรือเวียดนามที่มีค่าแรงถูกกว่าเนื่องจากไทยเป็นทั้งตลาดพลอยและแหล่งแรงงานฝีมือ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับสร้างมูลค่าเพิ่มสูงทั้งจากการปรับปรุงคุณภาพพลอยและการผลิตเครื่องประดับที่ประณีตบรรจงร่วมกับการดูแลลูกค้าด้วยความใส่ใจเป็นพิเศษที่คนไทยเราทำได้ดีกว่าชาติอื่น ความสามารถในการแข่งขันเหล่านี้เป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของคนไทย ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐควรหันกลับมาดูแลอุตสาหกรรมนี้ของคนไทย?