แนวโน้มตลาดเครื่องประดับมุ่งไปในทิศทางธุรกิจยั่งยืน [EP.10]
แนวโน้มตลาดเครื่องประดับมุ่งไปในทิศทางธุรกิจยั่งยืน
รายงาน “The Diamond Insight Report 2022” ของ De Beers Group ที่จัดทำขึ้นทุกปีเป็นหนึ่งในรายงานสำคัญของธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับโลก รายงานฉบับนี้นำเสนอข้อคิดและแนวโน้มความเป็นไปของอุตสาหกรรมนี้ต่อสาธารณะ แม้ว่าเครื่องประดับเพชรจะเป็นเพียงหนึ่งในกลุ่มสินค้าเครื่องประดับอันประกอบด้วยเครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับพลอยและอื่นๆ แต่เครื่องประดับเพชรมีสัดส่วนสูงถึง 35% ของมูลค่าเครื่องประดับโลกในปี 2021 รองจากเครื่องประดับทองที่สัดส่วนเกินกว่า 40% อ้างอิงจากงานวิจัยของ www.grandviewresearch.com และรายงานของ De Beers ฉบับนี้ ประกอบกับเครื่องประดับเพชรเป็นสินค้าแฟชั่นสากลที่ได้รับความนิยมสูงทั่วโลกต่างจากเครื่องประดับทองที่กระจุกตัวอยู่ในอินเดียและจีนดังข้อมูลที่ปรากฏทั่วไป ดังนั้น งานวิจัยเกี่ยวกับวิสัยการบริโภคเครื่องประดับเพชรจึงน่าจะเป็นฐานข้อมูลหนึ่งที่ใช้อ้างอิงถึงแนวโน้มของตลาดเครื่องประดับในภาพรวมได้
รายงานของ De Beers Group ปีนี้มีชื่อว่า “A New Diamond World” มาจากผลสำรวจหญิงชาวอเมริกันจำนวน 18,000 คนถึงทัศนคติและมุมมองต่อเครื่องประดับเพชรต่อสถานการณ์โลกในปัจจุบัน เหตุผลการใช้กลุ่มตัวอย่างข้างต้นเพราะนอกจากอเมริกาจะเป็นหนึ่งในตลาดชั้นนำของสินค้าประเภทนี้แล้ว อเมริกายังมีมูลค่าตลาดเครื่องประดับเพชรสูงถึง USD 47 พันล้าน หรือคิดเป็น 54% ของตลาดโลกจากมูลค่ารวมตลาดที่ USD 87 พันล้าน ขณะที่จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และประเทศตะวันออกกลางมีมูลค่าตลาดรวมกัน USD 23 พันล้านซึ่งน้อยกว่าครึ่งของตลาดอเมริกา รายละเอียดของรายงานฉบับเต็มสามารถค้นคว้าได้ที่ https://www.debeersgroup.com/~/media/Files/D/De-Beers-Group-V2/documents/reports/2022/DeBeers_DIR2022.pdf
รายงานฉบับนี้สรุปผลการศึกษาออกเป็น 4 แนวโน้มตลาดที่สำคัญของอุตสาหกรรมเครื่องประดับเพชรไว้ดังนี้
- ค่านิยมด้านความยั่งยืนและจริยธรรมของผู้ประกอบการเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อสินค้า
รายงานระบุว่า เครื่องประดับอยู่ในอันดับที่ 3 รองจากอาหารและเครื่องนุ่งห่มที่ผู้บริโภคคำนึงถึงปัจจัยความยั่งยืนโดย 30% ของคนรุ่นใหม่ซื้อเครื่องประดับที่ยืนยันว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคมและ ผู้บริโภค 58% ชอบเพชรที่ผลิตโดยรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมโดย 85% ของผู้บริโภคและ 92% ของ Gen Z ยอมจ่ายเพิ่มกับสินค้าที่ผลิตอย่างรับผิดชอบ - คนรุ่นใหม่เลือกซื้อสินค้ามีแบรนด์
Gen Z และ Millennials ซึ่งเป็นผู้บริโภคส่วนใหญ่ของสังคมซื้อเครื่องประดับเพชรที่มีแบรนด์ในสัดส่วน 76% และ 72% ตามลำดับในขณะที่ Gen X และ Boomers ซื้อเพียง 64% และ 38% แนวโน้มนี้มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดภายใน 7 ปีจาก 2015-2021 จาก 33% เพิ่มขึ้นเป็น 65% ของมูลค่าตลาดโดยรวม - การจัดจำหน่ายผสมผสานระหว่างออนไลน์และมีหน้าร้านดำเนินต่อไป
ลูกค้า 49% หาข้อมูลบนอินเตอร์เน็ทจากนั้นตัดสินใจซื้อ 30% ผู้ซื้อ 68% ยังคงตัดสินใจที่จะซื้อบนออนไลน์ต่อไปและการขายออนไลน์คิดเป็น 25% ผู้เป็นผู้ซื้อเครื่องประดับเพชรครั้งแรก 54% ขณะที่เลือกซื้อที่ร้าน 51% จากนั้นตัดสินใจซื้อ 40% และกลับไปซื้อออนไลน์ 11% - WEB3 และ Metaverse เป็นปัจจัยใหม่ที่สำคัญหนุนการตลาด
เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่นำพาลูกค้าในโลกดิจิทัลสู่โลกเสมือนจริงในการประชาสัมพันธ์สินค้าและการตลาดเพื่อสนับสนุนการขาย
จากผลวิจัยแนวโน้มตลาดข้างต้นชี้ชัดถึงทิศทางของการประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้กำลังมุ่งไปในทิศทางธุรกิจยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตหรือผู้ค้าปลีกต่างมีหน้าที่ในการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่คู่ค้าและผู้บริโภคให้ความสำคัญต่อประเด็นนี้อย่างต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน กล่าวคือ ผู้ค้าปลีกต้องสร้างแบรนด์โดยมีปัจจัยด้านความยั่งยืนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ขณะที่ ผู้ผลิตเครื่องประดับดำเนินธุรกิจด้วยการรักษาคำมั่นกับคู่ค้าในการประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืนสอดคล้องกันกับค่านิยมผู้บริโภค