ปมสงครามยูเครนกับความเสี่ยงต่อธุรกิจเครื่องประดับ [EP.5]

21 July 2022

ปมสงครามยูเครนกับความเสี่ยงต่อธุรกิจเครื่องประดับ

เงาทะมึนของวิกฤติเศรษฐกิจโลกมองเห็นได้อยู่ไม่ไกล ราคาน้ำมันและก๊าซเพิ่มขึ้นอย่างน่าตระหนกอันเป็นผลจากการแซงชั่นของตะวันตกต่อรัสเซียประกอบกับภัยจากสงครามในพื้นที่สู้รบในยูเครนทำให้การลำเลียงธัญพืชจากอู่ข้าวอู่น้ำของยุโรปสะดุดซ้ำเติมวิกฤติอาหารซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้าจากภัยโควิด-19 บวกแรงกับการแซงชั่นการส่งออกธัญพืชและปุ๋ยจากรัสเซียผู้เป็นหนึ่งในผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกทำให้แนวโน้มผลผลิตอาหารของโลกแย่ลงไปอีกระดับ ปัญหาเงินเฟ้อทั่วโลกในขณะนี้ที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงเกิดจากแรงกดดันทางต้นทุนของค่าเชื้อเพลิงพลังงานและอาหารต่างจากเศรษฐกิจฟองสบู่ที่ปกติมักเกิดขึ้นเป็นรายประเทศหรือภูมิภาค สถานการณ์เช่นนี้ได้กดทับเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวจากโรคระบาดรวมถึงงบการคลังของประเทศที่รัฐบาลแต่ละประเทศได้กู้ยืมอย่างหนักจนหมดหน้าตักเพื่อนำเงินมาเยียวยาช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยเศรษฐกิจจากโรคระบาด

หลายประเทศที่มีสภาวะการคลังที่อ่อนแอเริ่มซวนเซประกอบกับการแก้ปัญหาเงินเฟ้อของอเมริกาด้วยการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างรุนแรงทำให้เกิดภาวะเงินสำรองระหว่างประเทศร่อยหรอจากเงินทุนไหลออกรวดเร็วรุนแรงเหมือนกับที่ไทยเคยประสบมาก่อนในวิกฤติต้มยำกุ้ง ศรีลังกา เวเนซุเอลา ปากีสถานและลาวต่างถูกกระทบทั่วหน้าโดยบางประเทศไม่มีเงินตราต่างประเทศพอที่จะนำเข้าพลังงานมาใช้ในการขนส่งและปั่นไฟฟ้าใช้ในประเทศ สิ่งหนึ่งที่การคลังของไทยต่างจากปี 40 คือ เรามีเงินสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 225 พันล้านเหรียญอยู่ในอันดับ 14 ของโลกที่มากพอจะยืนระยะต้านพายุทางเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ปัญหาโครงสร้างของช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยอเมริกาที่สูงกว่าไทยในขณะนี้ที่ 1.25% และคาดว่าจะเป็น 2% สิ้นปีส่งผลต่อค่าเงินบาทอ่อนตัวที่คาดว่าจะไปถึง 36 บาทต่อเหรียญสหรัฐร่วมกับภาวะเงินทุนไหลออกอย่างต่อเนื่อง ในความเห็นส่วนตัว ธปท. ยังรีรอขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อเพราะเกรงจะกระทบธุรกิจ SME ที่เป็นทั้งผู้ประกอบการและผู้ว่าจ้างแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศที่มีระดับหนี้ครัวเรือนสูงมากอยู่แล้วจากภัยโรคระบาดโดยกำลังรอดูรายได้จากการท่องเที่ยวหลังเปิดประเทศในไตรมาส 3 เพื่อคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีนำมาพิจารณาใช้ในการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

อัตราเงินเฟ้อของไทยสูงสุดในรอบ 24 ได้กัดกร่อนกำลังซื้อที่อ่อนแอในประเทศจากภัยเศรษฐกิจที่มาจากโควิด-19 อยู่แล้วโดยเพิ่มภาระให้กับต้นทุนการผลิตในส่วนของค่าโสหุ้ยอย่างค่าไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน วัสดุสิ้นเปลืองและค่าขนส่งที่คาดว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีจะสูงถึง 5.9% สมทบด้วยการปรับค่าแรงขั้นต่ำต้นปีหน้าที่ท่านรัฐมนตรีแรงงานได้ประกาศเมื่อเร็วๆนี้ จากมุมผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่หลายคนมองว่าเป็นผลบวกกับธุรกิจผลิตเพื่อส่งออกแต่ธุรกิจผลิตเครื่องประดับมีสัดส่วนของโลหะมีค่าและเพชรพลอยนำเข้าในสัดส่วนสูงเป็นผลให้ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์จากค่าเงินอ่อนตัวไม่เต็มที่เหมือนธุรกิจผลิตผลทางการเกษตร ทั้งนี้ ธุรกิจดังกล่าวก็มีปัญหาราคาปุ๋ยนำเข้าที่เพิ่มขึ้นมากเช่นเดียวกันในขณะนี้ หลังจากที่ตะวันตกได้แซงชั่นเพชรแท้ของรัสเซียจนทำให้ราคาเพชรคงตัวในระดับสูงแล้วนั้น อเมริกาและอังกฤษได้เพิ่มการแซงชั่นทองคำของรัสเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตและมีทองคำสำรองรายใหญ่ของโลกเร็วๆนี้ ผู้เขียนคิดว่ายังเร็วเกินไปที่จะคาดเดาผลกระทบต่อราคาทองว่าจะเหมือนกับราคาน้ำมันหรือไม่อย่างไร สิ่งที่ผู้ประกอบการควรมองไปข้างหน้านอกจากการควบคุมต้นทุนสินค้าแล้ว การบริหารการเงินเพื่อควบคุมต้นทุนเงินจากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจที่พึ่งพาเงินกู้จำนวนมากอีกด้วย

เหนือสิ่งอื่นใด ในสภาพเศรษฐกิจตกต่ำนี้โดยเฉพาะเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเป้าหมายส่งออกทั้งในยุโรปและอเมริกาได้รับผลกระทบทั่วหน้าและยังส่งผลต่อตลาดนักท่องเที่ยวที่หลายคนคาดหวังให้เป็น “พระเอก” ช่วยกอบกู้เศรษฐกิจไทยอาจประสบชะตากรรมไม่แตกต่างกันด้วยกำลังซื้อทั่วโลกถูกบั่นทอนลงซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างจากวิกฤติต้มยำกุ้ง ด้วยเหตุนี้การทำตลาดในเชิงรุกเพื่อเข้าถึงลูกค้าทั้งในประเทศและผู้ซื้อในต่างประเทศตลอดจนการควบคุมต้นทุนการผลิตอย่างเข้มข้นร่วมกับการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ดอกเบี้ย และราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีความจำเป็นมากสำหรับธุรกิจเครื่องประดับ