กระแสเศรษฐกิจโลกที่กระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องประดับ [EP.6]
กระแสเศรษฐกิจโลกที่กระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องประดับ
เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวได้ไม่นานจากการหดตัวอย่างรุนแรงอันเป็นผลมาจากการยับยั้งโรคระบาดด้วยการปิดเมืองที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมทุกภาคส่วนโดยเฉพาะรายได้จากการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของหลายประเทศทั่วโลกซึ่งของไทยสูงกว่าร้อยละ 20 ของจีดีพีได้ขาดหายไปและขัดขวางการไหลเวียนของสินค้าและวัตถุดิบตลอดห่วงโซ่อุปทานทุกอุตสาหกรรมในยุคโลกาภิวัฒน์ที่สินค้าต่างถูกแบ่งนำไปผลิตในประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบางนี้ ราคาน้ำมันและก๊าซที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อนทำให้เกิดเงินเฟ้อทั่วโลกเนื่องจากพลังงานเป็นต้นทุนหลักของการผลิตสินค้าและบริการ ระดับเงินเฟ้อทั่วโลกพุ่งขึ้นสูงเกือบสองหลักทั้งในยุโรปและอเมริกาในขณะที่อัตราการใช้พลังงานสูงสุดในหน้าหนาวในซีกโลกตะวันตกกำลังจะมาถึง สถานะการเงินการคลังของทุกประเทศมีระดับหนี้ต่อจีดีพีสูงเกิดจากการกู้เงินจำนวนมากเสริมสภาพคล่องเพื่อนำเงินมาบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนในขณะที่ประชาชนมีหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงเพราะขาดรายได้ การใช้มาตรการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้ออย่างฉับพลันรุนแรงของอเมริกาทำให้ค่าเงินสกุลต่างๆทั่วโลกอ่อนค่ารวมถึงเงินบาทไทย ล่าสุดของการแข่งขันด้าน geopolitics ได้ลุกลามจากยุโรปมาเอเชียด้วยประธานสภาสหรัฐฯ เดินทางเยือนไต้หวันได้สร้างความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคซึ่งส่งแรงกระเพื่อมทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองทั่วโลก หรือว่าการแซงชั่นวัตถุดิบผลิตไมโครชิปจากจีนไปไต้หวันจะย้อนรอยพลังงาน
รัฐบาลและ ธปท. มีท่าทีต่อการต่อสู้เงินเฟ้อด้วยการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพราะเกรงจะเพิ่มภาระหนี้ครัวเรือนและค่าใช้จ่ายทางการเงินให้กับ SME ในสภาพเศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ล่าสุด ธปท. ได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 0.50% เป็น 0.75% กระนั้นยังมีส่วนต่างดอกเบี้ยกับสหรัฐซึ่งขณะนี้อยู่ในระดับ 2.25%-2.50% โดยให้ความเห็นขอรอดูผลตอบรับเปิดประเทศท่องเที่ยวและแนวโน้มของราคาน้ำมัน ในสภาพการณ์ที่ยังคงเต็มไปด้วยปัจจัยลบ ผู้ประกอบการจึงควรวางแผนแต่เนิ่นๆ เพื่อรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกเหล่านี้อย่างระมัดระวังด้วยเศรษฐกิจไทยเปิดต่อการเปลี่ยนแปลงต่อกระแสเศรษฐกิจโลกโดยตรงเนื่องจากโครงสร้างหลักของจีดีพีมาจากการส่งออกและการท่องเที่ยว จากการติดตามพัฒนาการเศรษฐกิจโลกและศึกษาผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเศรษฐกิจไทยในเชิงมหภาค จึงขอแสดงความเห็นในรูปปัจจัยความเสี่ยงด้านต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจเครื่องประดับเพื่อใช้เป็นแนวทางพิจารณาดังนี้
ความเสี่ยงของตลาด: คาดว่าตลาดยุโรปอ่อนตัวจากค่าครองชีพในระดับสูงจากนี้ไปและตลาดอเมริกาเริ่มไตรมาสแรกปีหน้า
ความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนและราคาทอง-เงิน: ค่าเงินบาทอ่อนและทรงตัวในระดับสูงขึ้นอยู่กับกระแสเงินสำรองระหว่างประเทศไหลออกอันเป็นผลจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายกับสหรัฐฯ ราคาทองคำและเงินเริ่มขยับกลับมาอยู่ในขาขึ้นในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยตอบรับความตึงเครียดทั้งในยุโรปและเอเชียและความเสี่ยงสูงของเงินคริปโตกับตลาดหุ้นโลกตกต่ำ
ความเสี่ยงของเงินเฟ้อและภาระดอกเบี้ย: เงินเฟ้อไทยเดือนมิถุนายนสูงถึง 7.66% มีแนวโน้มสูงขึ้นถึงสิ้นปีซึ่งคาดว่าทั้งปีอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 5.9% สูงสุดในรอบ 24 ปีได้ลดทอนกำลังซื้อและบรรยากาศจับจ่ายใช้สอยของตลาดภายในประเทศผนวกกับคาดการปรับดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. เพิ่มขึ้น 1% ถึงสิ้นปีจะเพิ่มภาระให้กับผู้บริโภคที่มีหนี้ครัวเรือนในระดับสูงและสร้างภาระดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการที่มีเงินกู้ยืมระดับสูงที่อาจทำให้เกิดการผิดนักชำระหนี้ได้
ความเสี่ยงด้านสังคม: ความขัดสนจากเศรษฐกิจจะบีบคั้นสังคมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาจเกิดความไม่ปลอดภัยต่อทรัพย์สินทั้งที่ร้านค้าปลีกและในโรงงานซึ่งต้องพิจารณาเป็นพิเศษ