อัญมณีและเครื่องประดับพัฒนาการของช่องทางการค้าปลีกของไทย [EP.8]

09 December 2022

อัญมณีและเครื่องประดับ…พัฒนาการของช่องทางการค้าปลีกของไทย

หลายคนมักคุ้นเคยกับทองรูปพรรณที่จัดวางเรียงรายขายอยู่ในตู้สีแดงเห็นอยู่ทุกหนแห่งไม่ว่าในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า หรือห้องแถวเขตชุมชนโดยมีแหล่งใหญ่ดั้งเดิมในย่านเยาวราชที่เป็นชุมชนของชาวจีนจนหลายคนทึกทักว่า ทองรูปพรรณนั้นเป็นการรับวัฒนธรรมอย่างจีน หากแต่ว่าเครื่องทองของไทยเรานั้นมีประวัติเคียงคู่กับวัฒนธรรมของชาติมาอย่างยาวนานจากงานหัตถกรรมในราชสำนักในอดีตสู่สามัญชนในปัจจุบัน หากพิจารณาลวดลายที่ใช้แพร่หลายบนงานทองรูปพรรณนั้นพบว่ามาจากหลายสกุลช่างสำคัญของไทย อาทิ สายสกุลช่างทองสุโขทัย สกุลช่างทองเมืองเพชร และสกุลช่างถมนคร รูปแบบและลวดลายของทองรูปพรรณไทยในปัจจุบันเป็นผลผลผลิตที่ผสมผสานทั้งด้านเทคนิคการผลิตและรูปแบบสินค้าจากหลากหลายวัฒนธรรมที่รังสรรค์จากจินตนาการที่เพริศแพร้วกับฝีมือเชิงช่างที่เชี่ยวชาญของช่างทองไทยออกมาเป็นชิ้นงานที่สวยงามละเอียดอ่อนรองรับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัย

ทองรูปพรรณอยู่เคียงคู่กับเครื่องประดับประเภทอื่นอย่างเพชรพลอยที่มีประวัติยาวนานอยู่คู่กับย่านร้านค้าเพชรแถวบ้านหม้อและร้านเครื่องเงินแถวบางลำพู พลอยสีเนื้อแข็งของไทยอย่างทับทิมและไพลินได้สร้างชื่อเสียงไปทั่วโลกจากแหล่งที่จันทบุรีและกาญจนบุรี ทับทิมเป็นพลอยราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 5 ส่งผ่านสู่ความนิยมของสามัญชนจวบจนปัจจุบันขณะที่ไพลินนั้นเคยได้รับความนิยมอย่างสูงสุดในสมัยวิคตอเรียของอังกฤษกระทั่งเพชรได้เข้าครอบครองตลาดจากการประชาสัมพันธ์อย่างเห็นผลของเดอเบียร์สในช่วงเปลี่ยนผ่านศตวรรษก่อน ส่วนเครื่องประดับเงินนั้นเป็นหนึ่งในงานหัตถกรรมที่สะท้อนวัฒนธรรมความเป็นชนชาติไทยที่หลากหลายในทุกภูมิภาคจากเหนือจรดใต้ด้วยลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชนที่สะท้อนถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรมและประวัติความเป็นมา เช่น งานเครื่องประดับเงินน่าน สุโขทัย จันทบุรี สุรินทร์ และนครศรีธรรมราช ทั้งนี้ ด้วยไมตรีจิตการให้บริการแนะนำสินค้าอย่างสร้างสรรค์ประกอบกับทักษะเชี่ยวชาญเชิงช่าง ผู้ผลิตเครื่องประดับเงินไทยได้นำพาเครื่องประดับเงินไทยก้าวสู่ระดับสากลได้อย่างเต็มภาคภูมิในฐานะผู้ส่งออกเครื่องเงินชั้นแนวหน้าหนึ่งในสามของโลก

ในระยะ 30 ปีให้หลังมานี้ ทองรูปพรรณและเครื่องประดับเพชรพลอยได้ก้าว “ขึ้นห้าง” อวดโฉมให้เราได้เลือกซื้อเลือกหาต่างจากยุคเก่าก่อนในรุ่นปู่ย่าที่ต้องเดินทางไปตามย่านดังกล่าวเพื่อเลือกซื้อแหวนหมั้นเพชรและเครื่องทองของหมั้น ข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจปี 2563 ระบุว่า ประเทศไทยมีห้างค้าส่งอัญมณีและเครื่องประดับ 2,314 แห่งและร้านค้าปลีก 8,739 แห่งซึ่งคาดว่าน่าจะมีมากกว่านี้มากหากนับรวมผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียนการค้ากับทางราชการ ตามที่ได้พบเห็นมีห้างร้านและจุดค้าปลีกทองรูปพรรณและเครื่องประดับอัญมณีอยู่มากมายทุกย่านการค้าตั้งแต่ห้างสรรพสินค้าระดับโลกใจกลางกรุงที่วางขายเครื่องประดับแบรนด์ระดับสูงยี่ห้อสากลชั้นนำถึงแบรนด์ไทยชั้นแนวหน้าในระดับสินค้ากลุ่มสูง ห้างสรรพสินค้าขนาดกลางและห้างช๊อปปิ้งมอลล์ตามชานเมืองทุกแห่ง ศูนย์เพชรพลอยเงินทองตามศูนย์การค้าอย่างมาบุญครองไปถึงซุปเปอร์สโตร์บิ๊กซีและโลตัส ร้านทองชานเมืองในตลาดสดกับแถวโรงงานและอีกมากมายหลายๆแห่ง ขณะที่ได้เกิดมีช่องทางจัดจำหน่ายคู่ขนานกับร้านค้าปลีกเหล่านี้อย่างการค้าผ่านทีวีที่ได้พัฒนาถึงระดับมีช่องทีวีที่ขายเครื่องประดับโดยเฉพาะในช่วงระยะสิบปีตามด้วยยุคการขายออนไลน์ทาง marketplace บนแพลตฟอร์ม lazada, shopee, e-bay, amazon ฯลฯ จากนั้นส่งต่อสู่ยุคโซเชียลเฟื่องฟูเกิดรูปแบบขายออนไลน์ใหม่ที่เรียกว่า social commerce บน Meta(Facebook), Instagram, TikTok, และ Line คนไทยใช้สื่อเหล่านี้เป็นช่องทางขายตรงรวมถึงการไลฟ์สดแนะนำสินค้ามากติดอันดับโลกทีเดียว

ดังนั้นจึงพอจะกล่าวได้ว่า รูปแบบพัฒนาการของช่องทางการค้าปลีกในแต่ละสังคมอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม สภาพสังคมเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และโครงสร้างประชากรที่หล่อหลอมวิสัยการบริโภคของสังคมนั้นๆ นักธุรกิจจึงจำเป็นสร้างช่องทางจัดจำหน่ายเพื่อนอกจากเป็นจุดจำหน่ายสินค้าแล้วยังใช้เป็นจุดให้บริการสนองตอบต่อวิสัยการบริโภคของลูกค้าด้วย